รายละเอียดคดี ของ คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505

แผนที่ A มาตราส่วน 1:10,000 เป็นแผนที่ของทางการไทย แสดงแนวเส้นเขตแดนฝรั่งเศส-สยามปี 2450 (Line 1) ซึ่งไทยได้โต้แย้งต่อศาลโลกมาตั้งแต่ปี 2505 กับแนวเส้นเขตแดน (Line 2) ที่ไทยใช้หลักสากลยึดถือแนวสันปันน้ำเป็นหลักในการแบ่งเส้นเขตแดนและได้อ้างสิทธิอันชอบธรรมเหนือพื้นที่สีเขียว การยกผืนดินที่ตั้งปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชากำลังจะสร้างความยุ่งยากให้แก่การกล่าวอ้างอธิปไตยของไทยแผนที่ B มาตราส่วน 1:200,000 แสดงภาพรวมที่ตั้งปราสาทพระวิหารและแนวเส้นเขตแดนตามแผนที่ของฝรั่งเศสเมื่อ 100 ปีก่อน (Line 1) กับเส้นเขตแดนที่ไทยกล่าวอ้าง (Line 2) โดยยึดสันปันน้ำตามหลักสากล ไทยยืนยันการกล่าวอ้างในเรื่องนี้ตลอด 46 ปีที่ผ่านมาหลังจากศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาในเดือนมิถุนายน 2505 ในเดือนถัดมาไทยก็ได้ยื่นบันทึกต่อศาลโลกพร้อมแผนที่ฉบับนี้แสดงที่ตั้งของปราสาทพระวิหารกับบริเวณโดยรอบและเส้นเขตแดนตามแนวสันปันน้ำที่ไทยสงวนที่จะกล่าวอ้าง ภาพล่างซ้ายแสดงให้เห็นว่าไทยยอมรับให้พื้นที่แก่ปราสาทที่กว้างที่สุดเพียง 100 เมตรเท่านั้น อาณาบริเวณข้างนอกเส้นปรุเป็นพื้นที่เขตสันปันน้ำ

คดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2447 ถึง พ.ศ. 2451 ประเทศฝรั่งเศสมีฐานะเป็นรัฐผู้อารักขากัมพูชา ได้ทำสัญญากับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น[3]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ทางการสยามได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของราชอาณาจักรสยาม ไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า "แผนที่ผนวก 1" (Annex I map) )

กระนั้น สยามไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง ท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง[3] ต่อมา มีการประชุมคณะกรรมการที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2452 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 นี้เป็นหลัก ก็ไม่มีผู้คัดค้าน

ปี พ.ศ. 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าว และในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลไทยไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว[3] นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2473 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสรับเสด็จในฐานะทรงเยือนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา[3] แม้ในระหว่าง พ.ศ. 2477-2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มีการทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรสยาม แต่สยามยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป[3] เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel)

ปี พ.ศ. 2501 หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่งเจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 เป็นหลักฐานสำคัญ ซึ่งแม้เส้นเขตแดนบนแผนที่จะไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเกณฑ์ แต่แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยถูกคัดค้านจากรัฐบาลสยามและไทยมาก่อน

ดังนั้นในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 นอกจากนั้นยังตัดสินด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกมาจากปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว[3]

แหล่งที่มา

WikiPedia: คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 http://www.charnvitkasetsiri.com/PDF/PreahVihearFo... http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16480.pdf http://www.icj-cij.org/docket/files/45/4871.pdf http://www.icj-cij.org/docket/index.php?p1=3&p2=3&... http://www.icj-cij.org/docket/index.php?sum=284&co... http://www.lek-prapai.org/web%20lek-prapai/seminar... http://www.mfa.go.th/190/file2.php http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2501/A/... http://www.navy.mi.th/intel/news/in_news/IN8_19020... https://www.youtube.com/watch?v=4KIZfY2AI6Y